“ปวด เมื่อย ชา” เป็นอาการที่สะสมและเป็นมานาน หรือที่เรียกว่าอาการปวดเรื้อรัง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยปกติมนุษย์สายปวดเมื่อย จะพบเจอปัญหานี้ไม่มากก็น้อย บางรายสะสมมานานนับปี อาการอาจเริ่มจากปวดบริเวณในบริเวณหนึ่ง เช่น กลุ่มออฟฟิตซินโดรม อาจเริ่มจาก ปวดบ่าหนึ่งหรือสองข้าง จนปวดคอ ลามไป ปวดเมื่อยสะบัก หัวไหล่ ร่วมกับอาการ ชาที่ปลายนิ้วมือ อาการต่างๆเหล่านี้ จะใช้เวลานานในการสะสมจนเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาเช่นกัน และการรักษาที่ได้ผลและประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ การทำกายภาพบำบัดลดปวด โดยเฉพาะการใช้ PMS คู่กับการออกกำลังกาย
PMS คืออะไร และมีกลไกการทำงานอย่างไร
Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) เป็นเทคนิคการบำบัดที่ใช้คลื่นแม่เหล็กในการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท โดยการใช้สนามแม่เหล็กที่สร้างจากการกระแทกไฟฟ้าเข้ากับคอยล์แม่เหล็ก ที่วางบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา สนามแม่เหล็กนี้จะสร้างกระแสไฟฟ้าในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อของบริเวณนั้น ซึ่งสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทตามแนวได้ และสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อของบริเวณนั้นได้ด้วยความแรงที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ในการรักษาอาการปวดหลัง อาการปวดเมื่อยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ และการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการบาดเจ็บ
ใครบ้างที่เหมาะกับ PMS?
- Office syndrome หรือปวดเรื้อรัง
- อาการปวดจากเส้นประสาท เช่นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, ปวดจากเส้นประสาทใบหน้า(Bell’s Palsy)
- อาการชา เช่น ผังผืดกดรัดเส้นประสาท เช่น (Carpal tunnel’s syndrome), ปลายประสาทอักเสบ หรือกลุ่มโรคเบาหวาน
- กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต
- ก่อน หรือ หลังผ่าตัด ในกรณีที่แพทย์ต้องการให้ช่วยลดอาการปวด ซึ่งจะให้ทำกายภาพบำบัดลดปวด ร่วมกับการใช้ PMS ทั้งนี้จะขึ้นกับพยาธิสภาพของโรคนั้นๆ
การรักษาด้วย PMS ควรทำนานและถี่เท่าไหร่?
- กลุ่มออฟฟิตซินโดรม หรือ ปวดเรื้อรังคอ บ่า ไหล่ สะบัก ความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
- กลุ่มก่อน หรือหลังผ่าตัด เพื่อลดปวด ความถี่ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
- กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีปัญหาอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือฟื้นฟูเส้นประสาท3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
รักษาด้วย PMS ต้องมีข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังอย่างไร
- ควรถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโลหะต่างๆ ออกก่อนรับการรักษา เช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเครดิต กุญแจรถ หัวเข็มขัด กระดุมบนกางเกง เนื่องจากอาจเกิดความร้อนสะสมที่วัสดุโลหะจากการเหนี่ยวนำด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- ต้องทำโดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อระบม ล้า หรือเป็นตะคริวได้ประมาณ 2-3 วัน
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยเนื้องอก ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เคยผ่าตัดใส่เหล็กดาม และเครื่องมืออื่นๆ รวมถึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- คนไข้จะต้องไม่เคยมีประวัติลมชัก